วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ความรู้เกี่ยวกับเครื่องทองน้อย

เครื่องทองน้อย

               
      เครื่องทองน้อยเดิมพระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นเครื่องราชสักการะพระบรมศพ พระบรมอัฐิ แต่ปัจจุบันใช้ได้ทั่วไป ทั้งพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และสามัญชน นิยมใช้ในกรณีต่อไปนี้
 - บูชาพระบรมสารีริกธาตุ
- สักการะพระบรมศพ พระบรมอัฐิ หรือพระบรมรูปบูรพระมหากษัตริย์
- เคารพศพ อัฐิ หรือรูป ของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
 - บูชาพระธรรมในพิธีเทศน์

เครื่องประกอบในเครื่องทองน้อย
 - เชิงธูป ๑ เชิง สําหรับปักธูปไม้ระกํา
 เชิงเทียน ๑ เชิง สําหรับปักเทียน
- กรวยดอกไม้ ๓ กรวย
 *** ตั้งรวมอยู่ในพานทอง พานมุก หรือพานแก้ว

 การจัดชุดเครื่องทองน้อย
 - กรวยดอกไม้ ๓ กรวย อยู่ด้านนอก
- เชิงธูป ปักธูปไม้ระกํา อยู่ด้านซ้ายมือของผู้จัด
 - เชิงเทียน อยู่ด้านขวามือของผู้จัด การตั้งและการจุดเครื่องทองน้อยเพื่อบูชา
 - จะบูชาสิ่งใดให้ตั้งหันด้านพุ่มดอกไม้ไปทางสิ่งนั้น

วิธีตั้งเครื่องทองน้อย
ให้หันด้านที่เป็นธูปเทียนออกมาด้านนอก คือ หันมาหาผู้จุดบูชา และข้อสำคัญห้ามใช้ธูปเทียนแพแทนเด็ดขาด

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพานพุ่มสักการะ

พานพุ่มสักการะ

ความหมายของพานพุ่ม
พานพุ่ม เป็นการนำคำนาม ๒ คำ มาประสมกัน ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
พาน  หมายถึง ภาชนะพิเศษชนิดหนึ่ง สำหรับจัดสิ่งของมี ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น แล้วนำไปเป็นเครื่องสักการบูชา พระรัตนตรัย พระมหากษัตริย์ ครู อาจารย์ หรือผู้ที่เคารพนับถือเนื่องในโอกาสต่างๆ
พุ่ม  หมายถึง ลักษณะกิ่งก้านและใบของต้นไม้ที่รวมกัน หรือดอกไม้ที่นำมาจัดเป็นทรงพุ่ม มีลักษณะอย่างพนมมือ เช่น พุ่มดอกไม้ พุ่มทอง พุ่มเงิน หรือชื่อดอกไม้ไฟอย่างหนึ่ง หรือการนำดอกไม้มาเสียบกับซี่ไม้เป็นชั้นๆ มีลักษณะกลางพองเป็นรูปพุ่ม
ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์  คือ การนำข้าวสุกที่บรรจุในกรวยใส่ในพุ่มดอกไม้ ใช้ในการบูชา หรือ การเรียกลายอย่างหนึ่ง ซึ่งมีรูปลักษณ์เหมือนพุ่มข้าวบิณฑ์ บางครั้งเรียก ทรงข้าวบิณฑ์


พานพุ่ม  หมายถึง พานที่มีดอกไม้หรือวัสดุซึ่งช่างได้ประดิษฐืเป็นทรงพุ่มแล้วนำมาวางไว้ บนพาน อันถือเป็นเครื่องสักการะหรือบูชาชั้นสูงของไทย ที่ช่างประดิษฐ์ไทยได้นำดอกไม้ หรือ วัสดุต่าง ๆ มาคิดประดิดประดอยจัดทำขึ้น และจัดแต่งเป็นทรงพุ่ม แล้วนำมาวางไว้บนพาน เพื่อนำไปเป็นเครื่องบูชาหรือสักการะสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระรัตนตรัย พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรพบุรุษที่เคารพนับถือ อันเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและความจงรักภักดีในโอกาสต่างๆ



ประเภทของพานพุ่ม
      ๑.  พานพุ่มเทียน  คือ การนำเทียนไขมาหลอมแล้วเทลงในแบบที่เป็นทรงพุ่ม เมื่อได้รูปร่างเทียนที่เป็นทรงพุ่มแล้ว จะนำมาวางไว้บนพาน เรียกว่า พุ่มเทียน ซึ่งถือเป็นโบราณราชประเพณีที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้สืบสานมาโดยลำดับในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพุ่มเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา ของทุกปี
      ๒.  พานพุ่มดอกไม้สด หรือ พานพุ่มดอกไม้  คือ ช่างประดิษฐ์ดอกไม้ไทยได้นำดอกไม้สดได้แก่ ดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกจำปี ดอกบานไม่รู้โรย หรือ ดอกไม้อื่นๆ มาจัดแต่งเป็นทรงพุ่ม มีลักษณะคล้ายพนมมือ นำมาตั้งไว้บนพาน แล้วนำไปตั้งบูชาพระรัตนตรัย หรือนำไปวางเป็นเครื่อง สักการะ แล้วแต่กรณี
      ๓.  พานพุ่มทองพานพุ่มเงิน คือ การนำผ้าตาดทอง ตาดเงิน เป็นต้น มาประดิษฐ์ แล้วนำมา จัดแต่งประกอบกับวัสดุหรือโฟมเป็นทรงพุ่ม นำมาตั้งไว้บนพาน แล้วนำไปตั้งบูชาพระรัตนตรัย หรือ นำไปวางเป็นเครื่อง สักการะ แล้วแต่กรณี
อนึ่ง สำหรับกรณีที่ พานพุ่มมีพู่ ในการวางเป็นเครื่องบูชาให้หันด้านที่เป็นพู่ออกมาทางด้านนอก (โดยให้พู่อยู่ทางด้านผู้วางหรือผู้ตั้ง)
การวางพานพุ่มเป็นเครื่องสักการะ
      ๑.  การวาง พานพุ่มดอกไม้สด เป็น เครื่องสักการะ ส่วนมากจะวางเพียง ๑ พาน หรือ ๑ คู่ ตามความเหมาะสม ดังนั้น จะมีการตั้งพานพุ่มบูชาไว้ที่โต๊ะหมู่ตัวรองตัวอื่นๆ ก่อน เพื่อเป็นการประดับให้มีความเรียบร้อยและสวยงาม แล้ว เว้นโต๊ะหมู่ตัวรองที่ตั้งอยู่ด้านหน้าไว้ ๑ คู่ (กรณีวาง พานพุ่มเป็นคู่ แต่ถ้าหากวางพานพุ่มเพียงพานเดียวก็จะเว้นโต๊ะหมู่ตัวรองด้านหน้าให้ว่างไว้) เพื่อเป็นการจัดเตรียมไว้ให้ประธานวางพานพุ่ม ในกรณีที่วางเป็นคู่ให้ประธานวางพานพุ่มทางด้านขวามือ ของประธานก่อน แล้วจึงวางพานพุ่มทางด้านซ้ายมือประธาน ส่วนโต๊ะหมู่ตัวล่าง หรือตัวต่ำสุดให้ตั้ง กระถางธูป เชิงเทียน หรือ พานกรวยดอกไม้ ธูปเทียนแพ หรือ เครื่องทองน้อย
                                                                  เครื่องทองน้อย

          ในกรณีวางพานพุ่มคู่ และให้วางพานพุ่มด้านขวามือของผู้วางก่อน แล้วจึงวางพานพุ่มทางด้านซ้ายมือ เนื่องจากวัฒนธรรมประเพณีของสังคมที่ปฏิบัติสืบสานกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ได้ให้ความสำคัญของการเวียนขวา เช่น เมื่อจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ให้กระทำทักษิณาวรรตก่อน ซึ่งเป็นการ แสดงความเคารพก่อนเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แม้ในปัจจุบันนี้ก็ได้ให้ความสำคัญทางขวามือเป็นหลัก ดังนั้น ในปัจจุบันเมื่อมีกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา ก็จะมีการเวียนเทียนรอบอุโบสถเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธองค์ อันเป็นการแสงความเคารพอย่างสูงสุดของศาสนิกชน
      ๒.  การวาง พานพุ่มทอง–พานพุ่มเงิน ให้วาง พานพุ่มทอง ไว้ทางด้านขวามือของผู้วางก่อน แล้วจึงวาง พานพุ่มเงิน ทางด้านซ้ายของผู้วางเป็นลำดับต่อมา สำหรับ พานพุ่มทอง–พานพุ่มเงิน ที่ใช้วางเป็น เครื่องสักการะ หรือเป็น เครื่องบูชา นั้น ไม่ควรใช้พานพุ่มที่มียอดเป็นฉัตร เนื่องจากฉัตร เป็น สัญลักษณ์ หรือ เครื่องอิสริยยศ ของสถาบันพระมหากษัตริย์


           อนึ่ง สำหรับการวางพานพุ่มที่ใช้วางเป็นเครื่องสักการะ หากเป็นพานพุ่มที่มีพู่ ให้วางโดยหันพู่ไปในทิศทางที่ตั้งพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ หรือสิ่งที่ผู้วางต้องการสักการะอันเป็นการแสดงความเคารพ

ที่มา :  แหล่งข้อมูล "เอกสารวิชาการ" นายชวลิต ศิริภิรมย์ นักวิชาการศาสนา ๗ ว ฝ่ายพิธี กรมการ
          ศาสนา.เว็บไซด์ วิชาการ.คอม.  (ภาพ "พุ่มเทียน")
           http://www.thunyapat.net/